ทำทานไว้ ให้ใจเคยชิน



ขอนำคำของครูบาอาจารย์มาฝากกันนะคะ...
**********************************************
ท่านสอนว่า จงทำทานให้เป็นความเคยชิน พี่น้องเราเองก็ถูกฝึกให้ทำทานเป็นปกตินิสัยเสมอ คือ บางทียื่นซองมาให้ ไม่ต้องถามกันเลยว่า ทำอะไร ที่ไหน แต่ทุกคนก็หยิบกระเป๋าตังค์แล้ว แล้วก็ไม่ต้องทำมากเกิน ไม่ต้องทำตามสังคมนิยม เอาตามกำลังของเรา พวกเราถูกฝึกให้ “กล้า” ทำบุญเพียง 2 บาท ด้วยซ้ำ

ทำไมต้องทำทานให้ชิน?....ก็เพราะความเคยชินนี้ จะมาปรากฏในจิตของเรา ยามใกล้จะจากโลก...คนที่ชอบบี้มด สับหัวปลา ตีหัวหมา ปาหัวแมว ฯลฯ เป็นประจำ ยามใกล้จะไป ความเคยชินนี้ก็จะปรากฏในจิตเช่นกัน แล้วคิดดูเถิด กรรมแบบนี้จะลากเจ้าของกรรมไปที่ไหน...

สิ่งที่เราทำจนจิตชินนี้แหละ จะกลายเป็น “ชนกกรรม” หรือกรรมที่ทำให้เกิด...จริงอยู่ แม้การภาวนาจะเป็นบุญอันสูงสุด แต่เรามั่นใจแล้วหรือ ว่าภาวนาคล่องจนวางจิตตอนใกล้ตายได้ดี และตราบใดที่เรายังไม่ได้ก้าวข้ามความเป็นปุถุชน สู่อริยบุคคล มันหมายถึงว่า เรายังไม่มีหลักประกันแห่งการพ้นอบายเลย

เพราะฉะนั้น พึงอย่าประมาทเลย.....

สุข ดี สงบ ยังไม่ใช่...แล้วยังไง?



            ปฏิบัติธรรมทั้งที มันต้องสุข ดี สงบสิ ถึงจะดี....แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ แล้วยังไง อธิบายสั้นๆ นะ

            สุข ดี สงบ ถึงจะน่าพอใจ แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยงอยู่ จึงไม่ควรยึด ถ้าเข้าไปยึด แล้ว ช่วงใด สภาวะจิตใจของเราไม่สุข ไม่ดี ไม่สงบ เราก็จะทุกข์ขึ้นมา...การปฏิบัติธรรมนั้น เป้าหมายแท้จริง คือให้มองเห็นและเข้าใจว่า ทุกสิ่งล้วน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรยึดเอาไว้ได้ หรือเป็นดั่งใจเราได้ เมื่อเข้าใจ ก็เกิดการถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นที่เคยมี ใจก็สามารถรับได้กับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ที่เราไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลงเลย เมื่อสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลง เห็นความเปลี่ยนแปลง เกิด-ดับ เป็นของธรรมดาได้ เมื่อนั้นใจก็ไม่ทุกข์

           เป้าหมายปลายทางของการปฏิบัติธรรมคือการออกจากทุกข์ตามนี้จ้า ไม่ใช่เอาแค่ความสงบ....

เนกขัมมบารมี...ทำได้ทุกลมหายใจ



          เนกขัมมบารมี หมายถึง การต้องไปบวช ไปถือศีลที่วัดอย่างเดียวหรือ เปล่าเลย..วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี แปลคำเนกขัมมะว่า  การออก, การออกบวช, ความไม่มีกามกิเลส พระอาจารย์มานพ อุปสโมท่านก็กล่าวไว้ชัดเจนว่า หมายถึง การทำใจให้ออกจากกามคุณอารมณ์ คือ ปล่อยวาง ไม่จมอยู่กับเรื่องที่มากระทบใจ ซึ่งผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นหากเราปฏิบัติใจของเราได้ดี เพียงแค่มีสติรับรู้อารมณ์ทั้งหลายว่ามันเกิดขึ้น ไม่ไปคล้อยตามมัน ปล่อยให้มันดับไปตามธรรมชาติ...

          เพียงแค่นี้ การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีก็เป็นของเราทุกลมหายใจแล้วล่ะ


                                                                                              ๒ ตุลาคม  ๒๕๕๘


กินเจ กินมังฯ...แล้วไง


              เที่ยงแล้ว มากินข้าวกัน...แกงเขียวหวานลูกชิ้นเจจ้า อร่อยนะ ขอบอก เคยไปกินปลาราดพริกเจต่อหน้าเพื่อนๆ เค้าเห็นแล้วทำหน้าตาประหลาด เพราะมันเหมือนปลาของจริงมากๆ แต่ละคนแอบคิดว่า เออ...ถ้ามันเหมือนขนาดนี้ แล้วมากินเจทำไม๊ !!!!! (คิดดังจนได้ยินแน่ะ)...เราเลยเหมือนคนบาปไปซะงั้น 5555 ที่จริงน่ะ การกินเจ ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมอะไรหรอก คนกินอาจไม่ได้เลิกชอบของอร่อยด้วย (เป็นเหตุผลที่ต้องปรุงรส ปรุงหน้าตาให้ดูดี) แต่คนที่เค้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ไปกินเจ กินมังฯ แทน ก็เพราะเบื้องหลังจานโปรดทุกมื้อ คือการฆ่าฟัน..เป็นเหตุผลของความสงสาร..

                มันก็เท่านั้นเอง... 
                                                                                       ๑๖  กันยายน  ๒๕๕๘


มองข้างนอก



มองข้างนอก...ใครๆ บอกว่าต้องเห็น 
ขอ comment เห็นของจริงหรือเปล่าหนา? 
เห็นแล้วปรุง... ชอบไม่ชอบ ตอบอัตตา 
แต่ทางโลกเชื่อหนักหนาว่าของจริง 

มันก็จริงแค่ของเราใช่เขาอื่น 
ร้อยคน "ชื่น" ล้านคน "ชัง" ช่างยุ่งยิ่ง 
แล้วตรงไหนที่มันใช่ล่ะ "ของจริง" 
ก็ meaning  มันเป็นล้านบานเบอะไป 

ถ้าเห็นเป็นแค่ "สักว่า" น่าจะเห็น 
ปล่อยเขาเป็นตัวจริงเขา ใช่เราใส่ 
ความคิดชัง คิดชอบ กอปรลงไป 
แล้วว่าใช่ ถูกจริงแท้มีแต่เรา 

แถมเห็นแล้วยังสุขเศร้าเคล้าจิตอีก 
เพราะติดปีกให้ใจผินบินหาเขา 
ไอ้หูตามันก็แกล้งตะแบงเรา 
ใจจึงเคล้าแต่เรื่องโลกให้โศกครอง

เห็น "ของจริง" พ้น "ทุกข์ใจ" ให้ "สักว่า" 
ใจของเรานั้นหนาอย่าไปข้อง 
เกาะเกี่ยวไปสมุทัยย่อมครอบครอง 
ใจจงมองอย่างเป็นกลางว่างเปล่าครัน 

พึงเชื่อมั่นและเห็นตามพระธรรมเถิด 
สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ ไม่กลับหัน 
แม้นอยากครองอยากข้องต้องทุกข์ครัน 
เพราะว่ามันไม่เป็นไปตามใจเอย

คำบรรยายที่ ๒

คนเราชอบมองนอก ไม่มองใน 
จิตส่งไปตามตาหูดูไปทั่ว 
ไม่ชอบดูกายจิตที่ติดตัว 
จึงต้องพัวพันโลกโศกร่ำไป 

มองภายนอก..พระท่านบอก...มองไม่เห็น 
มองให้เป็น...มองภายใน...หายสงสัย 
เห็นเกิดดับธรรมทั้งหลายเพราะภายใน 
ทุกข์ทางใจดับได้ผองเพราะมองเป็น

๒ กันยายน ๒๕๕๘

รู้ทางโลก



"รู้" ทางโลกเปรียบได้ดั่งพ่อค้า
ขนของมาวางขาย แผงไม่ว่าง
เยอะไปทั่วแทบไม่มีที่จะวาง
เพราะว่าหวังมูลค่าค้ากำไร

"รู้" ทางโลก ยิ่ง "เยอะ" ยิ่งเปรื่องปราด
ว่าสามารถมี "อนาคต" ที่สดใส
"รู้" ทางธรรม รู้อยู่แค่กายและใจ
พ้นทุกข์ได้ "อนาคต" ก็หมดตาม

รู้ทางโลก ต้องรู้เยอะถึงจะเรียกว่าฉลาด แต่ก็เอาตัวรอดจากความทุกข์ไม่ได้ 
รู้ทางธรรม รู้แค่กายกับใจ ก็แจ้งจบสัจธรรม พ้นทุกข์ได้
"มีอนาคต" ทางโลก หมายถึง มีความสำเร็จ ความรุ่งเรืองรออยู่ 
(ทางลึกก็คือ มีภพชาติให้เกิดในอนาคตอีกมาก)
"หมดอนาคต" ทางธรรม หมายถึง ไม่มีอนาคตที่จะต้องเกิดต่อไป

๒๗  สิงหาคม  ๒๕๕๘

เรือลำน้อย



เรือลำน้อยครูท่านให้พายข้ามฝั่ง 
ได้สอนสั่งวิธีพายให้ศิษย์ผอง 
เลี้ยงตัวได้ในโลกนี้ที่ทุกข์ครอง 
แล้วก็ล่องข้ามให้พ้นสายชลไป 

เหลือแต่เราจะเข้าใจพายหรือเปล่า 
หรือจะเฝ้านั่งรอ ...ครูถ่อให้ 
หรืออ้อยอิ่งเอาแต่พายขายของไป 
หมดเมื่อไหร่หาของใหม่ไม่เลิกพาย

โปรดเข้าใจ...เพียงพายตามคำครูสอน 
หมดทุกข์ร้อนทั้งข้ามพ้นชลสาย 
ไม่ซ้ำซากขายของเหนื่อยเมื่อยทั้งกาย 
แต่คนพายต้อง "ใจเรา" เท่านั้นเอย

๒๖  สิงหาคม  ๒๕๕๘

แค่รู้สึกตัว...ก็ได้สร้างบารมี



         เวลาพูดถึงการสร้างบารมี เรามักจะนึกถึงการสร้างบุญด้วยการสร้างพระ โบสถ์ วิหาร ทำทาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการทำบุญภายนอก (แต่ไม่ได้บอกให้เลิกทำนะ)  เราแทบไม่ได้นึกถึงว่า แค่มีสติ รู้สึกตัว ที่ไม่ได้ใช้ทุนทรัพย์อะไรเลย ก็เป็นการสร้างบารมีด้วย
       
         ที่ความมีสติ รู้สึกตัว เป็นการสร้างบุญบารมี เพราะนี่คือ แนวทางในการรักษาใจให้รอดพ้นจากกิเลส ตัณหาทั้งหลาย เรียกว่า เป็นการสร้างพระภายในตัวเอง

         พระภายนอก คือพระพุทธรูป เราสร้างกันมาแล้ว อย่าลืมพระภายในเป็นอันขาดนะคะ จุดหมายของเราอยู่ที่การสร้างพระภายในให้สำเร็จนี่ละค่ะ


                                                                                  ๒๑  สิงหาคม  ๒๕๕๘
     

ความสุขคือลูกโป่ง



สุขมา ณ คราใด พึงเตือนใจให้จดจำ
สุขเปรียบลูกโป่งซ้ำ มีเข็มหนามตามทิ่มแทง

      เข็มคืออนิจจัง          เคยสมหวัง..พัง..เปลี่ยนแปลง
ลูกโป่งฤาทนแรง ปลายเข็มได้...ไม่มีทาง

หากใจยอมเข้าใจ ใจย่อมได้ซึ่งการวาง
ลูกโป่งอันบอบบาง ย่อมแตกตามธรรมดา

เห็นสุขในลูกโป่ง คือความหลงเพลินทุกขา
เห็นทุกข์คือดวงตา เห็นสุขแท้ไม่แปรเอย


๗ สิงหาคม ๒๕๕๘


ทั้งสุขและทุกข์ล้วนไม่เที่ยง เกิดแล้วมันก็ต้องจบเหมือนๆ กัน แต่คนเรานั้นรักความสุข เกลียดทุกข์ จึงต้องเตือนตัวเองหนักๆ หน่อยว่า "อย่าติดสุข" พระท่านว่า หลงเพลินสุขทางโลก ก็คือหลงเพลินทุกข์น่ะแหละ แต่ถ้ามองเห็นสุขทางโลกเป็นทุกข์ แปลว่า มีสิทธิ์เห็น "สุขของแท้ ไม่แปรผัน" แล้ว


ไม่ล่ายหลั่งจาย


ละครมงกุฎดอกส้มนี้มีการสร้างถึง 2 ครั้ง โดยช่อง 7 และช่อง 3 แต่ว่ามีตัวละครตัวหนึ่ง จำได้ว่าชื่อโรส ชอบพูดประโยคที่กลายเป็นวลียอดฮิตอยู่พักหนึ่งคือ "ไม่ล่ายหลั่งจาย" หรือ ไม่ได้ดั่งใจนั่นเอง ประโยคนี้ มันเป็นแก่นแท้ของชีวิตเราเลยล่ะ เพราะเนื้อแท้ของทุกสิ่งนั้น มัน "ไม่ได้ดั่งใจ" ทั้งนั้น คือ "บังคับบัญชา" ให้เป็นอย่างใจเราไม่ได้เลย ก็แหม..ชั้นอยากสวยเด้งอยู่อย่างนี้ แต่มันก็ดันแก่ อยากให้สุดที่รัก เค้ารักชั้นปานจะกลืน ก็ดั๊น ไปรักคนอื่นเสียนี่ อยากทำธุรกิจให้รุ่งๆ รวยๆ แต่มันก็ดันเจ๊ง ฯลฯ

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างเกิด "ได้ดั่งใจ" ขึ้นมา ให้ถือว่าเป็นลูกฟลุค วางใจเป็นกลางๆ เสีย อย่าลิงโลด เวลาเจอของจริง คือไม่ล่ายหลั่งจายขึ้นมา มันจะยิ่งกว่าหนาว !!!

แล้วจะทำอย่างไรให้ “ล่ายหลั่งจาย” ล่ะ..คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ มีอยู่ 2 ทางคือ เราต้องเลิกมาเกิด แต่ถ้ายังเลิกมาเกิดไม่ได้ ก็ต้องทำความเข้าใจไว้ว่า โลกก็เป็นอย่างนี้ล่ะ มีความ “ม่ายล่ายหลั่งจาย” เป็นของจริงแท้ ทั้งนี้เพราะ “ม่ายล่ายหลั่งจาย” มันบ่งบอกถึงความไม่เที่ยง บังคับบัญชาไม่ได้ ของสรรพสิ่งในโลก ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นั่นเอง

๕ สิงหาคม ๒๕๕๘

ถามกูซักคำมั้ย !!!



เคยเห็นรูปในเฟซบุ๊ค มีคำบรรยายแบบนี้แหละ (แต่รูปนี้ทำเอง เพราะหาไม่เจอ) คือว่า นึกขึ้นมาแล้วมันขำ...เพราะเราเห็นเป็นธรรมะนะ บ่งบอกว่า คนเรานี่ติดอยู่กับการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมันซะทุกอย่าง ทั้งที่ แม้แต่ร่างกายเรา มันก็แค่ "บ้านเช่า" เอาธาตุดิน น้ำ ลมไฟ มาประกอบกันชั่วคราว ให้จิตมาอาศัยใช้บุญกรรมไปชาติหนึ่งๆ  พอหมดเวลา เราก็ต้องออกจากบ้านไป จึงเรียกว่า ร่างกายมันไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นแค่บ้านเช่า

แต่ในรูปนี่...ขนาดร่างกายเราเองยังยึดไม่ได้  เรายังไปยึดร่างกายของคนอื่น (สัตว์) มาเป็นของเราอีก นึกจะทำอะไรเพื่อตอบสนองความพอใจของเราก็ทำ (ถามกูซักคำมั้ยเนี่ยะ) แล้วที่เห็นว่า สวย น่ารัก ตลก สัตว์เค้าจะเห็นด้วยอย่างนั้นหรือก็เปล่า เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ (สวย น่ารัก ตลก ) มันก็ไม่ใช่ของจริงที่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นหนึ่งในสมมุติที่คนเราอุปโลกน์ขึ้นมา จนกลายเป็นสากล พออุปโลกน์สมมุติทั้งหลายแล้ว ทีนี้ก็เชื่อสมมุติน่ะซี จนกระทั่งถือเอาสมมุติเป็น "สรณะ" ไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่สามารถมองเห็นและยอมรับสัจธรรม หรือความจริงแท้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพราะพระธรรมที่ทรงสอนทุกข้อ ล้วนไม่ตอบสนองความรักหลงในสมมุติของเราแม้แต่นิดเดียว เนื่องจากนำแต่ความทุกข์มาให้ พระองค์ทรงปรารถนาให้เราพ้นทุกข์อย่างถาวรเท่านั้น

และพอยังรักยังชอบสมมุติ มันก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่กับ "สมมุติ" นั่นแหละ เพราะคนเรามันได้ไปที่ชอบๆ ทุกคน เมื่อใดเลิกรักหลง "สมมุติ" ก็จะได้ถึงวิมุติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางไว้

แต่มันก็ตลกดี มนุษย์ซึ่งว่ากันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ฉลาดกว่าสัตว์ทั้งหลาย สร้างสมมุติขึ้นเอง แล้วก็ดันติดกับดักของตัวเอง สัตว์ที่ติดกับดัก เขายังติดกับดักที่เขาไม่ได้สร้างขึ้น...

กรรมไหม คนเรา !!!!!

๕ สิงหาคม ๒๕๕๘

เราทุกคนล้วนเดินบนขอบเหว



ชีวิตจริงของเราซึ่งเป็นปุถุชน ก็เหมือนเดินอยู่บนขอบเหว แต่เราไม่รู้ตัวใช่ไหม ที่ว่าเดินขอบเหว เพราะเรานี้ยังไม่มีความปลอดภัยเลย หากทำดี ก็ไปดี แต่หากทำไม่ดี หรือแม้เพียงจิตก่อนตายคิดไม่ดี มีความโกรธเคือง ความกังวล ก็มีหวังร่วงลงอบายได้อย่างง่ายดาย !!!!

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านมองเห็น แต่เราน่ะ มองไม่เห็น เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้เราเอาตัวรอดให้ได้ ด้วยการปฏิบัติจิตปฏิบัติใจ ให้ข้ามพ้นจากปุถุชนสู่ความเป็นอริยบุคคลให้ได้ แม้นข้ามถึงความเป็น "พระโสดาบัน" ซึ่งเป็นขั้นต้นได้ ท่านก็ว่า สามารถปิดอบายได้แล้ว

เกิดมา มีชีวิตอยู่ ก็เหมือนเดินขอบเหวนั่นแหละ ไม่ได้มีอะไรน่าเพลินแม้แต่สักนิด...

ทำไมต้องขอขมาคุณพระรัตนตรัย



เอ เราก็ว่าเราเนี่ยะ เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้วนะ ใส่บาตร ทำบุญ ฟังเทศน์ไม่ได้ขาด แล้วเราไปล่วงเกินคุณพระรัตนตรัยตรงไหนเหรอ ถึงต้องขอขมาอยู่เรื่อยๆ

ครูบาอาจารย์สอนมาจ้า...ท่านบอกว่า เราทั้งหลายนี้ เป็นศิษย์ที่ดื้อมาก ไม่ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ในอีกหลายเรื่องเลย เช่น ท่านสอนว่า ทุกสิ่งบนโลกนี้ไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพื่อให้เราเข้าใจและไม่เกาะเกี่ยว แต่เราก็ยังเฝ้าจะให้ทุกสิ่งเที่ยงตามใจของเรา....ท่านสอนว่า สุขทางโลกคือทุกข์ ไม่มีอะไรน่าชื่นชมยินดี แต่เราก็ยังชื่นชมใฝ่ฝันหาความสุข เห็นความสุขเป็นยอดปรารถนาเสมอ...ท่านสอนว่า โลกธรรมเป็นของธรรมดา ไม่ให้เราไปยึดถือ แต่เรานั้น ใครชม เป็นตัวลอย ใครนินทา เดี๋ยวเจอดีแน่........ฯลฯ

ก็เพราะเราไม่ได้เชื่อฟังครูจริงๆ อย่างที่ว่ามานี้ไง เราก็เลยต้องขอขมาท่าน

อันความสวยทั้งปวงล้วนลวงล่อ



อันความสวยทั้งปวงล้วนลวงล่อ
ให้เราหนอติดห้วงบ่วงสังสาร
สวยแล้วโรย..โรยแล้วเน่า..ไม่เนานาน
จิตชื่นบานเพราะ “เข้าใจ” ไม่ยึดมัน

เป็นแค่เพียง “ของชั่วคราว” เอามาล่อ
ให้เราหนอโยน “ของจริง” ทิ้ง...น่าขัน
อริยทรัพย์ที่ค้นหาค่าอนันต์
เมื่อรู้ทันไยยอมแลกแบก “ของปลอม”

เพียงแค่ใจ “เข้าใจ” ใจก็ปล่อย




เพียงแค่ใจ “เข้าใจ” ใจก็ปล่อย
ไม่ต้องคอย “วาง” อะไรไปให้ทั่ว
เหมือนรู้ใครเป็นโจรร้ายใจก็กลัว
ไม่มามัวนั่งคบจบไปเอง

 วัสสวดี

        คนเราปล่อยวางได้ ก็เพราะเข้าใจว่า "ไม่มีอะไรในโลกที่่ยึดได้" เนื่องจากทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มันจากเรา เราก็ต้องจากมันไป เมื่อรับความจริงนี้ได้ ไม่ต้องไปทำอะไร ใจเขาก็ไม่เอาเอง คือไม่ยึดเอง เหมือนรู้ว่าใครเป็นโจรน่ะแหละ...จ้างให้ก็ไม่คบ



สุขสันต์ วัน "ไม่เกิด"




ให้สุขสันต์ “วันไม่เกิด” ประเสริฐสุด
ถึงวิมุติพ้นเวียนว่ายในสงสาร
แม้นเห็นเกิดว่าเป็นสุข...ทุกข์ชั่วกาล
ไม่พบพาน “สุขของแท้” แน่นอนเอย

วัสสวดี